วิถีชาวนาบางเสาธง พ.ศ.๒๔๓๐ จนเข้าสู่ยุคโรงงานอุตสาหกรรม

การทำนาในบางเสาธง เป็นผลจากสนธิสัญญาเบาริ่ง  ต่อมาสมัยรัชกาลที่ ๕ ข้าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศ จนต้องเพิ่มผลผลิต ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ เกิดการย้ายถิ่นฐานของผู้คน เกิดชุมชนหมู่บ้านตามแนวลำคลอง

              แทบจะทุกพื้นที่ของอำเภอบางเสาธงในอดีตคือ ทุ่งนา การทำนาเป็นอาชีพที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เรียนรู้สืบทอดจากปู่ย่าตาทวดมาสู่รุ่นพ่อแม่ และส่งผ่านมายังคนรุ่นหลัง  การทำนาแบบโบราณต้องพึ่งพาฝนตามฤดูกาล เป็นวิถีเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลทั้งการปลูก การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยว

              ฤดูฝนราวเดือนพฤษภาคมไปถึงเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงปลูกข้าว เข้าเดือนสิงหาคมจนถึงเดือนกันยายน เป็นช่วงที่ดูแลบำรุงต้นข้าวในแปลงนาและเป็นช่วงที่ชาวนาได้พักงานในนา เมื่อถึงต้นฤดูหนาวราวเดือนตุลาคม  ชาวนาก็จะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต จนเข้าสู่ฤดูร้อนจึงเป็นช่วงพัก ก่อนจะเริ่มทำนารอบใหม่ นอกจากเรียนรู้การผลิตแล้ว ปู่ยาตายายยังสอนให้เข้าใจธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำนา