คลองสำโรงและชุมชนเกษตรกรรมในบางเสาธง

คลองสำโรง เป็น คลองขุด ไม่มีหลักฐานว่าขุดตั้งแต่เมื่อใด กล่าวไว้ว่าในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔–๒๐๗๒)  ได้ขุดซ่อมคลองสำโรง แล้วพบรูปเทพารักษ์ ๒ องค์ ดังหลักฐานที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขา เมื่อปีมะเมีย จุลศักราช ๘๖๐ (พ.ศ. ๒๐๔๑) ความตอนหนึ่งว่า

              “ขณะนั้นคลองสำโรงที่จะไปคลองศีรษะจระเข้ คลองทับนางจะไปปากน้ำเจ้าพระยาตื้น เรือใหญ่จะเดินไปมาขัดสน จึงให้ชำระ ขุดได้รูปเทพารักษ์ ๒ องค์หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ จารึกองค์หนึ่งชื่อ “พญาแสนตา” องค์หนึ่งชื่อ “บาทสังขกร” ในที่ร่วมคลองสำโรงกับคลองทับนางต่อกัน  จึงให้พลีกรรมบวงสรวง แล้วรับออกมาปลูกศาล เชิญขึ้นประดิษฐานไว้ ณ เมืองพระประแดง” (ส. พลายน้อย. ๒๕๕๕ : ๒๐๐)

              คลองสำโรงเป็นเสมือน แม่คลอง เชื่อมพื้นที่และผู้คนที่อยู่ทางตะวันออกกับด้านตะวันตก เชื่อมคลองหลายสายที่อยู่ด้านเหนือและด้านใต้ ผู้อาวุโสกล่าวว่าไม่ว่าจะพายเรือ แจวเรือ มาจากคลองไหน ๆ ก็ต้องมาเข้าคลองสำโรง คลองสำโรงในอดีตน้ำใสสะอาด อุดมสมบูรณ์ สองข้างทางอุดมไปด้วยนาข้าว ปัจจุบันคลองสำโรงเปลี่ยนแปลงไปมาก จากการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

วัดมงคลนิมิตร เป็นวัดสำคัญที่ตั้งอยู่ริมคลองสำโรง สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘  สองสามีภรรยาคหบดีใหญ่ที่ประกอบกิจการหลายอย่างเกี่ยวกับข้าว และครอบครองที่นาในย่านนี้กว่า ๔,๐๐๐ ไร่ คือนายชื้น (มหาชื้น) และนางกิมเฮียะ มงคล ทั้งสองท่านได้อุทิศที่ดินริมคลองสำโรงเพื่อสร้างวัด  เดิมเรียกว่า “วัดคลองพ่อเฒ่า” เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณปากคลองพ่อเฒ่า ปูชนียบุคคลที่สำคัญของวัดคือ พระครูมงคลวิหารกิจ (หลวงพ่อสือ) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัดคือ  หลวงพ่อเกษ ปัจจุบันพระครูสุตรัตโนภาส, ดร. (ชูศักดิ์ จนฺทธมฺโม) เป็นเจ้าอาวาสวัดมงคลนิมิตร