ตามรอยนิราศเมืองแกลง ณ ทุ่งบางเสาธง
“บางพลี” เป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งอยู่แนวคลองสำโรง ทางทิศตะวันออกของเมืองสมุทรปราการ ทุ่งบางเสาธงในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอบางพลี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้แยกออกมาเป็นอำเภอบางเสาธง
สุนทรภู่ กวีเอกของไทยและของโลกแต่งนิราศเมืองแกลง ปลายสมัยรัชกาลที่ ๑ (พ.ศ.๒๓๕๐) เป็นบันทึกการเดินทางระหว่างไปพบบิดาที่เมืองแกลง (ปัจจุบันคือจังหวัดระยอง) สุนทรภู่เดินทางพร้อมลูกศิษย์โดยเรือมาดประทุน แจวเรือผ่านพื้นที่อำเภอบางพลีและอำเภอบางเสาธงในปัจจุบัน สุนทรภู่บันทึกสภาพชุมชน เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีที่แล้ว บางพลีเป็นชุมชนใหญ่ มีอาชีพทำนา มีวัดวาอารามและบ้านเรือนตามแนวคลองสำโรง สุนทรภู่กล่าวถึงบางโฉลงที่เป็นชุมชนสำคัญ หัวป่า บ้านไร่ คลองขวาง บางกระเทียม ช่วงเวลาดังกล่าวบริเวณที่ห่างไกลจากชุมชนบางพลี เป็นป่ารก เป็นที่อาศัยของสัตว์ต่าง ๆ โดยเฉพาะจระเข้ที่มีชุกชุม
“ถึงบางพลี มีเรือนอารามพระ ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง ต้องลากจูงจ้างควายอยู่รายเรียง
ดูเรือนแพแออัดอยู่ยัดเยียด เข้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
แจวตะกูดเกะกะปะกระเชียง บ้างทุ่มเถียงโดนดันกันวุ่นวาย”
จนตกลึกล่วงทางถึงบางโฉลง เปนทุ่งโล่งลานตาล้วนป่าแขม
เหงือกปลาหมอกอกกกับกุ่มแกม คงคาแจ่มเค็มจัดดังกัดเกลือ
ถึงหัวป่าเห็นป่าพฤกษาโกร๋น ดูเกรียนโกรนกรองกรอยเปนฝอยเฝือ
ที่กิ่งก้านกรานกีดประทุนเรือ ลำบากเหลือที่จะร่ำในลำคลอง
ถึงหย่อมย่านบ้านไร่อาไลยเหลียว สันโดษเดียวมิได้พบเพื่อนสนอง
เขารีบแจวมาในนทีนอง อันบ้านช่องมิได้แจ้งแห่งตำบล
ถึงคลองขวางบางกระเทียมสท้านอก โอ้มาตกอ้างว้างอยู่กลางหน
เห็นแต่หมอนอ่อนแอบอุระตน เพราะความจนเจียวจึงจำระกำใจ
ถึงชแวกแยกคลองสองชวาก ข้างฝั่งฟากหัวตะเข้มีมะขาม
เขาสร้างศาลเทพาพยายาม กระดานสามแผ่นพิงไว้บูชา
ตะลึงแลแต่ล้วนลูกจระเข้ โดยคะเนมากมายทั้งซ้ายขวา
สักสองร้อยลอยไล่กินลูกปลา เห็นแต่ตากับจมูกเหมือนตุ๊กแก