ดนตรีไทยบ้านศรีเกตุ

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : ศิลปะการแสดง/การละเล่น

บ้านศรีเกตุเป็นตระกูลที่มีความสามารถทางด้านดนตรีไทยทั้งวงปี่พาทย์และวงปี่พาทย์มอญ ก่อตั้งมาได้ 3 รุ่น เป็นระยะเวลากว่า 72 ปี โดยมีนายเท้ง ศรีเกตุ ผู้เป็นบิดาของนายเสริม (ปู) ศรีเกตุ เป็นผู้ซื้อเครื่องดนตรีเมื่อปี พ.ศ.2486 และเริ่มก่อตั้งวงปี่พาทย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นายเสริม ศรีเกตุ มีความสนใจในเรื่องปี่พาทย์ที่ได้เห็นตามวัด และงานต่าง ๆ นายเท้ง ศรีเกตุ รู้จักกับครูเขียน ไม่ทรายนามสกุล) ครูเขียนจึงพานายเสริม ศรีเกตุ ไปฝากกับพระบุญธรรม คงทรัพย์ เพื่อไปเรียนดนตรีที่บ้านบางโปรง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ การไปฝึกหัดครั้งนั้น  นายปูต้องไปอยู่กินนอนที่บ้านของพระบุญธรรม คงทรัพย์ ตลอดการหัดเรียนปี่พาทย์เป็นเวลา 3 เดือน นายปูได้ฝึกระนาดเอกเป็นเครื่องมือเอก เพลงที่ได้จากการไปเรียนในครั้งนั้นคือ เพลงชุดโหมโรงเช้า เพลงชุมโหมโรงเย็น เพลงเรื่องตะโพน เพลงเรื่องเต่ากินผักบุ้ง และเพลงที่ใช้ในพิธีกรรม ต่อเพลงมอญกับครูดอน ธนโกเศศ บ้านจางวางทั่ว พาทยโกศล เคยออกงานกับวงปี่พาทย์ของจางวางสวน ชิดท้วม ครูลับ ชิดท้วม เมื่อนายเท้งเห็นว่านายปูได้เพลงมาแล้วสามารถที่จะไปออกงานได้ ตนจึงเป็นผู้ซื้อเครื่องดนตรีมาเพื่อตั้งวงปี่พาทย์เมื่อ พ.ศ. 2487 ในการซื้อเครื่องดนตรีครั้งนั้นนายเท้งได้ขายที่ดินเป็นจำนวน 30 ไร่ เพื่อนำไปซื้อเครื่องดนตรี ได้วงปี่พาทย์เครื่องคู่ มีระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก ฆ้องวงใหญ่ เครื่องหนัง และเครื่องประกอบจังหวะในราคา 1,000 บาท

          รายชื่อนักดนตรีวงปี่พาทย์รุ่นที่ 1

          1. นายเสริม (ปู) ศรีเกตุ             ระนาดเอก

          2. นายสุข (ไม่ทราบนามสกุล)      ฆ้องวงใหญ่

          3. นายสอน ศรีเกตุ                 ฆ้องวงเล็ก

          4. นายป่วน ศรีเกตุ                 ระนาดทุ้ม

          5. นายเฉลิม บุญเหมือน            ตะโพน

          6. นายพริ้ง ศรีเกตุ                  กลองทัด

          เริ่มรับงานโดยใช้ชื่อวงปี่พาทย์ว่า “ปี่พาทย์ตาเท้ง” “ปี่พาทย์ตาปู” และ “ปี่พาทย์พ่อปู” เมื่อสมัยก่อนยังไม่มีการตั้งชื่อวงที่แน่นอน คนที่ว่าจ้างงานหรือชาวบ้านที่รู้จักก็จะเรียกชื่อวงโดยการใช้ชื่อผู้ดูแลวงหรือชื่อคนระนาดแทน รับงานเวลาละ 150 บาท  ต่อมา พ.ศ. 2514 ได้มีนักดนตรีปี่พาทย์มาสืบต่อในรุ่นที่ 2 นายเสริม ศรีเกตุ ได้สืบทอดวิชาความรู้ทางด้านตรีไทยให้กับบุตรหลานและศิษย์ของนายปู โดยมีวิธีการถ่ายทอดหรือการต่อเพลง แบบที่ 1 คือ การบรรเลงให้ดูก่อนทีละวรรคและให้ศิษย์บรรเลงตาม แบบที่ 2 คือการถ่ายทอดเพลงแบบมุขปาฐะหรือปากต่อปาก โดยการนอยทำนองเพลงในแต่ละวรรคให้ฟัง แล้วให้ศิษย์บรรเลงตามให้ตรงลูก ตรงเสียง ซึ่งทั้งสองวิธีนี้เป็นการถ่ายทอดเพลงแบบโบราณ นายเสริม ศรีเกตุ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2552 นายขนิษฐ์ ศรีเกตุ บุตรคนที่ 9 ได้เข้ามาดูแลวงปี่พาทย์และยังสานต่อเจตนารมณ์ของบิดา

          ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2516 นายปูได้ซื้อเครื่องดนตรีปี่พาทย์มอญมาจากจังหวัดปทุมธานี และได้รับการสนับสนุนฆ้องมอญฝีมือช่างสมชัยดนตรีไทย จากนายสำรวย มงคลศิลป์ จึงได้นำเอาชื่อของนายสำรวยมาตั้งเป็นชื่อวงปี่พาทย์มอญว่า “ปี่พาทย์มอญคณะสำรวย มงคลศิลป์” ส่วนชื่อวงอีกชื่อหนึ่งเกิดจากความบังเอิญเมื่อครั้งไปแข่งเรือ นายขนิษฐ์ตั้งชื่อเรือที่ลงแข่งว่า “รีเจนซี่ดนตรีไทย” หลังแข่งเรือเสร็จจึงนำมาตั้งเป็นชื่อวงปี่พาทย์นับตั้งแต่นั้นมา ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ดนตรีไทยบ้านศรีเกตุ”

          การไหว้ครูดนตรีไทยของดนตรีไทยบ้านศรีเกตุ มีการกำหนดฤกษ์ไว้คือ เดือน 9 ของไทย ตรงกับวันพฤหัสบดีแรกของเดือนกันยายน จัดงาน 2 วัน วันแรกคือวันสุกดิบจะทำพิธีสวดมนต์เย็น มีการโหมโรงเย็น นิมนต์พระมาสวดเย็นเพื่อความเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นจะเป็นบรรเลงถวายมือแด่ครูบาอาจารย์ วันที่สองเป็นช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีจะเลี้ยงภัตตาหารเช้าแด่พระสงฆ์ จากนั้นพิธีไหว้ครูและจับมือฆ้องหรือตะโพนตามลำดับ โดยมีนายเสริม ศรีเกตุ เป็นผู้อ่านโองการไหว้ครูและการจับมือเพื่อรับศิษย์ ซึ่งนายเสริมได้โองการมาจากครูสุพจน์ โตสง่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2527 แต่หลังจากที่นายเสริมเสียชีวิตก็เหลือเพียงการกล่าวคำถวายเครื่องสังเวยเท่านั้น โดยนายขนิษฐ์ ศรีเกตุ เป็นผู้กล่าวคำถวายเครื่องสังเวย บางปีก็จะเปลี่ยนสถานที่จัดงานเป็นที่วัดศีรษะจรเข้ใหญ่ โดยมีครูจงกล พงษ์พรหม เป็นผู้อ่านโองการในพิธีไหว้ครู (ณัฐยา  เอี่ยมสำอางค์. 2559. ดนตรีไทยสายตระกูลบ้านศรีเกตุ. ดนตรีนิพนธ์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา)

             ดนตรีไทยบ้านศรีเกตุเคยได้รับรางวัลศิลปินดีเด่นด้านศิลปะการแสดงปี่พาทย์มอญของจังหวัดสมุทรปราการประจำปี 2551 สำนวนทางฆ้องและอัตลักษณ์เพลงสาธุการของสายตระกูลบ้านศรีเกตุ ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพระบุญธรรม คงทรัพย์ รูปแบบทำนองมีการเคลื่อนที่ของทำนองขึ้นลง ไม่คงที่ และไม่ซ้ำเสียง สามารถบรรเลงได้ครบทุกเสียง มีลักษณะการใช้รูปแบบมือทางฆ้องที่ห่างๆ ไม่โลดโผน มีความเรียบง่ายแต่มีเสน่ห์เหมาะสมกับมือโบราณ