คลองชวดบัว เล่าเรื่อง : วุฒิพงษ์ ทองก้อน ภาพ : ปาริสา สังข์ทอง คลองชวดบัว หรือ ลำชวดบัว อยู่ทางด้านเหนือของอำเภอบางเสาธง ผู้อาวุโสที่อยู่ในพื้นที่เล่าว่า เดิมคลองเป็น ทางควายล่อง ซึ่งชาวบ้านมักจะจูงควายล่องผ่านไปมา ภายหลังจึงพัฒนาเป็นคลอง ส่วนบริเวณสองฝั่งคลองเป็นทุ่งราบโล่ง มีต้นปรือ ต้นอ้อ และต้นกกหอม ขึ้นรกทั่วบริเวณ คลองชวดบัวสมัยก่อนมีคนอยู่ไม่มาก คลองมีขนาดไม่กว้างและไม่ยาวมาก ทอดตัวจากตะวันตกไปตะวันออก ปากคลองอยู่ด้านตะวันตกเชื่อมกับคลองหน้าวัดโชติบัว ด้านตะวันออกแยกเป็นสองทาง ทางหนึ่งสบกับคลองขวางเรียกว่า คลองหกโรงเพราะมีโรงนาอยู่หกหลัง อีกทางไปสบกับคลองเสือร้องไห้ คำว่า “ชวด” แปลว่า อด หรือ ไม่ได้ เมื่อมาใช้กับที่นา หมายถึง พื้นที่ ที่เจ้าของนาเสียสละขุดเป็นคลองเพื่อนำน้ำเข้านาและยกพื้นที่นั้นให้เป็น ลำรางสาธารณะ เช่น ชวดตาพุก ชวดหนองบอน ชวดตายิ้ม เป็นต้น ชื่อคลองชวดบัวเกี่ยวข้องกับวัดโชติบัว พระครูโกมุทธรรมธาดา ((หลวงปู่ขีด โตเจริญ) ท่านเคยเล่าว่าในบริเวณวัดโชติบัว (วัดบัวโรย) มีบึงบัวขนาดใหญ่ มีบัวหลวงน้อยใหญ่ขึ้นมากมาย ปัจจุบัน คือ ลานด้านข้างอุโบสถ เมื่อมีการขุดคลองชื่อได้เพี้ยนไป และปรากฏคำว่า “ชวดบัว” ในแผนที่ของทางราชการ พ.ศ.2485 เรื่องนี้มีผู้อาวุโสที่อยู่ในพื้นที่หลายท่าน ต่างยืนยันตรงกัน เช่นคุณตาพุฒ วงศ์ศิริ เล่าว่า “คลองชวดบัว ผมเคยเป็นเด็กวัด ที่วัดมีบึงบัว มีดอกบัว ข้างๆ ก็มีสระบัว” (วน โอทอง. 5 กันยายน 2559 : สัมภาษณ์) “ “สมัยก่อนตอนที่เห็นบัวขึ้นเยอะ ประมาณ 3 ขวบ บัวขึ้นเยอะเขาเลยตั้งชื่อ คลองชวดบัว บัวที่ขึ้นเป็นบัวหลวง ตั้งแต่วัดชวดบัวยาวเรื่อยมา บัวมีแค่ที่วัดเป็นบัวหลวง เดิมเป็นคลองควายล่อง ควายล่องไปล่องมาแล้วมาจ้างคนขุด” (พุฒ วงศ์ศิริ.10 พฤศจิกายน 2558 : สัมภาษณ์) ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำยืนยันของพระครูโกมุทธรรมธาดา (หลวงปู่ขีด โตเจริญ) อายุ 94 ปี อดีตเจ้าอาวาสวัดบัวโรย กล่าวว่า “แต่ก่อนที่นี่มีบัวหลวงเยอะ เวลาไปโยนบัว เขาก็มาเอาดอกบัวจากที่นี่ เหมือนที่นี่เป็นแหล่งดอกบัว ก่อนนี้ที่นี่เขาเรียกว่า บัวโรย “ (พระครูโกมุทธรรมธาดา. 4 กันยายน 2558 : สัมภาษณ์) คุณอำนาจ หงษ์จร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ ให้ข้อมูลว่า “ เดิมคลองนี้เป็นทางควายล่องไปทำนา ที่เรียกว่าลำชวดบัวเพราะบัวมันเยอะ เป็นที่ลุ่ม มีบัวหลวง บัวสาย บัวเผื่อนดอกสีม่วง บัวขาว แถวนี้บัวเยอะ คลองชวดบัว มีบัวเยอะ แล้วก็มีต้นปรือ ต้นกกหอม” (อำนาจ หงษ์จร. 2 ธันวาคม 2559 : สัมภาษณ์) สมัยก่อนตำบลบางเสาธงขึ้นกับอำเภอบางพลี เนื่องจากเป็นตำบลที่อยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ไม่มีถนนหนทางการคมนาคมทางรถยนต์ มีเพียงการคมนาคมทางน้ำเท่านั้นที่จะสามารถสัญจรไปมาได้ด้วยเรือ เมื่อทางอำเภอบางพลีมีกิจกรรมงานบุญ เช่น งานประเพณีรับบัว ชาวชวดบัวก็จะเดินทางด้วยเรือพายบ้าง เรือแจวบ้าง ตระเตรียมเสบียงอาหารของแห้งน้ำดื่มเอาใส่เรือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับเดินทางไปนมัสการหลวงพ่อโต ที่วัดบางพลีใหญ่ในริมคลองสำโรง และไม่ลืมเก็บดอกบัวที่มีอยู่มากมายสองฝั่งคลองไปด้วย เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แต่เนื่องด้วยหนทางที่ไกลจากอำเภอบางพลีเป็นอย่างมาก บัวที่เก็บใส่เรือไปนั้นถูกลมบ้างถูกแดดบ้าง จึงเหี่ยวช้ำ กลีบดำร่วงโรยไม่น่าดู และชาวบางพลีมักจะเรียกชาวชวดบัวที่ไปนมัสการหลวงพ่อโตในงานรับบัวว่า ชาวบัวโรย เหตุเพราะเอาดอกบัวที่เหี่ยวโรยมาไหว้พระ เรื่องดังกล่าวนี้ มีคำยืนยันจากผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นหลายท่านเล่าว่า เมื่ออำเภอบางพลีจัดงานประเพณีรับบัวก็ได้เคยขอดอกบัวจากที่นี่ไปใช้ในงานด้วย บางท่านกล่าวว่าเมื่อก่อนชาวบ้านจากบางพลีจะพายเรือเข้ามาเก็บดอกบัวในคลองเพื่อไปใช้ในงานรับบัว บ้างก็ว่าชาวบ้านบางพลีที่เข้ามาทำนาในที่นี่มักจะเก็บดอกบัวไปด้วย ส่วนเรื่องที่ว่า แต่ก่อนทางอำเภอบางพลีได้ขอดอกบัวจากที่นี่ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่หลายท่านกล่าวว่า หน่วยงานราชการท้องถิ่นเคยขอความร่วมมือชาวบ้านและโรงเรียนในย่านนี้ให้เก็บดอกบัวไปส่งที่อำเภอบางพลีก่อนที่จะถึงวันงานประเพณีรับบัวจริง หลายท่านยังเล่าว่าในสมัยที่ท่านเป็นนักเรียน ก็ได้มอบหมายจากคุณครูให้เก็บดอกบัวมาให้โรงเรียนเพื่อนำไปใช้ในงานประเพณีรับบัวด้วย นอกจากนั้นยังร่วมกันทำขนมข้าวต้มลูกโยนสำหรับให้คนที่พายเรืออีกด้วย เหตุที่อำเภอบางพลีจะต้องใช้ดอกบัวของที่นี่ เป็นเพราะคลองบางสายในอำเภอบางพลีเป็นน้ำกร่อยเพราะอิทธิพลกระแสน้ำขึ้น น้ำจากทะเลอ่าวไทยส่งผลให้มีดอกบัวน้อย จนไม่เพียงพอกับความต้องการในช่วงงานประเพณี ดังนั้นอำเภอบางพลีจึงต้องขอความร่วมมือจากท้องที่อื่นด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากเป็นอย่างดีเพราะชาวบ้านถือว่าได้ทำบุญไปด้วย ดังที่อาจารย์อารีย์ วิทยารมภ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สมัยเป็นเด็กท่านต้องเก็บดอกบัวไปส่งที่โรงเรียนเพื่อรวบรวมไปส่งที่อำเภอบางพลี นอกจากนั้นแล้วยังต้องมาช่วยกันห่อข้าวต้มลูกโยนไปให้ในงานอีกจำนวนหนึ่งด้วย “ก่อนนี้เกณฑ์เด็กทุกคนไปเก็บดอกบัวเป็นมัด ๆ ไปส่งครู ครูจะรวบรวมทั้งหมดเอาส่งกำนัน แล้วกำนันจะแจวหัวแจวท้าย 4 แจว เอาไปให้อำเภอ สมัยรุ่นพ่อ (กำนันจีรศักดิ์ แก้วโบราณ) ได้ข้าวเหนียวมากระสอบนึง แล้วบ้านใครเป็นบ้านกำนันก็ห่อไป ห่อเป็นลำเรือเลยนะ แม่จึงเกณฑ์ผู้หญิงในหมู่บ้านไปห่อข้าวต้ม เพื่อเช้าขึ้นมาก็ไปส่งที่อำเภอ เขาถึงเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ไม่ได้โยนเป็นพุทธบูชานะ ให้พวกพายเรือ ไม่ใช่โยนใส่ตัวให้เจ็บ แต่สมัยก่อนเขาคงโยนข้าวต้มให้กิน ข้าวต้มทำเป็นลำเรือมาดเลย พ่อบอกว่าเริ่มมาให้รุ่นพ่อทำเอง ประมาณ 80 ปี สมัยปู่ยังไม่ได้ทำเลย อยู่ ๆ ใครไม่รู้ว่าให้โยนใส่หลวงพ่อโต จริงๆ มันไม่ใช่นะ เขามาไหว้ พอถึงขึ้นมาเอาบัวมากราบไหว้ ครูอารีย์ สมัยสาว ๆ ต้องลงพายเรืองานรับบัว โดนเขาปาดอกบัวอยู่แล้วล่ะ แต่เขาไม่ให้ปากลับด้วยนะ ยังไงเราต้องอดทน” (อารีย์ วิทยารมภ์. 23 ตุลาคม 2559 : สัมภาษณ์) “ผมเคยเอาเด็กลงเรือประกวดของ ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ เขาก็จะวิ่งเอาข้าวต้มมาส่งกับมือ บัวก็เหมือนกัน คำว่า โยน ลักษณะมันไกล โยนแบบสุภาพนะครับ ไม่ใช่ขว้างไป ยุคปลาย ๆ มันก็เริ่มเอาดอกบัวมาหักก้านออก แล้วปาหน้า ปาอก เหมือนกระสุน ผมยังเคยโดนเลย” (สุพรรณ โพธิสุภาพ. 23 ตุลาคม 2559 : สัมภาษณ์) คุณอำนาจ หงษ์จร รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ กล่าวเรื่องการเก็บบัวสอดคล้องกันว่า แต่ก่อนชาวบ้านแถวนี้จะเก็บดอกบัวไปให้คนที่อำเภอบางพลี เรียกว่า ไปส่งบัว เพราะที่บางพลีดอกบัวไม่ขึ้นเพราะเป็นน้ำเค็ม “มีคนเขาบอกว่าเวลามีงานโยนบัว บางพลี คนแถวนี้จะเก็บบัวไปให้คนบางพลี แถวบ้านเราเขาเรียก “ ไปส่งบัว” แต่มันเปลี่ยนว่า “โยนบัว” เพราะมันเขวี้ยงลงเรือ ชื่อจริงๆ คือ ไปส่งบัว แถวนี้บัวเยอะเขา ก็อาสาเรือไป บางพลีไม่มีบัวเพราะน้ำเค็ม ทางโน้นก็เอาเรือมารอรับเพื่อเอาบัวไปไหว้หลวงพ่อโต ทางโน้นเรียก รับบัว รุ่นตาผมเรียก ส่งบัว แต่ปัจจุบันเรียกโยนบัว สมัยก่อนเขาเอาเรือมารับ สมัยนี้เขาเอาหลวงพ่อโตมาแห่ ก็เขวี้ยงลงเรือจึงเปลี่ยนไป สมัยเด็ก ๆ เขาก็ขอให้เราเก็บไปให้ที่โรงเรียน เขาขอมาที่ตา ตาก็ขอชาวบ้านมา ก็ไปส่ง ที่บ้านผมชายคลองใหญ่ เป็นที่ว่าง 4-5 ไร่ บัวหลวงเต็มเลย เก็บฝักบัวเป็นลำเรือ เอาบัวมาต้มกัน ใส่น้ำตาล ใส่ปลาทู ข้าวใส่ใบบัว เอาดอกบัวไปให้ เขาก็ถือว่าทำบุญ ” (อำนาจ หงษ์จร. 2 มีนาคม 2559 : สัมภาษณ์) กล่าวโดยสรุปได้ว่า “ชาวชวดบัว” หมายถึง คนที่อยู่ในละแวกวัดชวดบัว (วัดโชติบัวในอดีต หรือวัดบัวโรยในปัจจุบัน) เพราะมีปากคลองติดกับวัดชวดบัวและในวัดมีบึงบัวหลวง คำว่า “บัวโรย” เป็นคำที่เกิดภายหลังช่วงที่ มีการจัดงานรับบัวที่บางพลีแล้วนายอำเภอให้นายบ้าน คือ ผู้ใหญ่ กำนัน เก็บดอกบัวไปส่งที่อำเภอบางพลี ดอกบัวที่มาจากคลองนี้ได้แห้งเหี่ยวร่วงโรยลง เพราะสภาพแวดล้อมทำให้เหี่ยวเฉา หรืออาจจะเกี่ยวกับดอกบัวแห้งเหี่ยวจากลมและระยะทางไกล โดยคนในพื้นที่ยังเรียกทั้งสองชื่อคือ “ชวดบัว” และ “บัวโรย” หากท่านใดมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคลองชวดบัวสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรุู้ร่วมกันได้นะคะ ============= ที่มาของข้อมูล 1. พระมหาชวลิต อธิจิตโต 2. งานวิจัยเรื่อง การศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อหมู่บ้านในอำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ โดย พรรณศิริ แจ่มอรุณ วุฒิพงษ์ ทองก้อน และกชพร ขวัญทอง .2561 มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.