เรือมาด

เป็นเรือประจำถิ่นของภาคกลาง ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาอยุธยาตอนปลาย ดังปรากฏในบันทึกของลาลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศส เรือมาดนิยมใช้มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีประโยชน์ใช้สอยมากมาย เป็นต้นแบบของเรือขุดที่ดัดแปลงใช้ประโยชน์ในรูปแบบอื่น เช่น เรือมาดประทุน และเรือมาดเก๋ง
เรือมาดมีลักษณะท้องกลม หัวและท้ายเรือแบนกว้าง เบิกปากเรือแต่ไม่เสริมกราบ นิยมขุดจากซุงไม้ตะเคียนหรือไม้สัก เนื้อไม้เหนียวแน่น ลอยน้ำได้ดี ไม่ผุง่าย
เรือมาดมีขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ เรือมาดขนาดเล็กใช้สัญจรตามคลองหรือทุ่งนาบรรทุกของที่มีน้ำหนักน้อย พายหาปลา ล้อมอวน เรือมาดขนาดกลางใช้แจวสองแจวหรือใช้ถ่อขนาดใหญ่ เรือมาดขนาดใหญ่ใช้แจวหลายแจว นำมาใช้บรรทุกข้าวเปลือก ไม้ฟืน ชาวนาบางเสาธงใช้เรือมาดขนย้ายฟ่อนข้าวที่เก็บเกี่ยวแล้วจากนา ชาวบ้านเรียกว่า “เรือหอบข้าว”
ที่มา มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน