เรือผีหลอก
เรือผีหลอกเป็นเรือหาปลาของชาวบ้าน มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อด้วยไม้กระดาน ๓ แผ่น ลักษณะเพรียว ความยาวประมาณ ๕-๖ เมตร ใช้แจว บางท้องถิ่นใช้เรือขุด คอหัวเรือและคอท้ายเรือมีแคร่ กลางลำโล่ง มีไม้กระดานวางพาดแผ่นเดียว ใช้เป็นสะพานทางเดินจากหัวเรือมาท้ายเรือเท่านั้น มีแจวที่ท้ายเรือเพียงแจวเดียว ส่วนหัวเรือมีคนช่วยถ่อหรือพาย กราบเรือด้านซ้ายมีเสาสูงประมาณ ๑ เมตร จากห้องกลางลำเรือ ขึงด้วยตาข่าย กันไม่ให้ปลากระโดดข้ามเรือ ด้านขวามีแผ่นกระดานทาสีขาวห้อยข้างเรือ
ที่เรียกเรือผีหลอก เพราะในตอนดึกหรือใกล้รุ่งของคืนข้างแรม คนหาปลาจะแจวเรือที่มีแผ่นกระดานทาสีขาวห้อยข้างเรือ แจวไปตามชายตลิ่งในฤดูน้ำลด เมื่อปลาที่อยู่ริมตลิ่งเห็นแสงจากแผ่นกระดานสีขาว จะตกใจและกระโดดข้ามแผ่นกระดานไปติดตาข่าย แล้วตกลงในเรือ ในคืนหนึ่งๆ จะได้ปลาประมาณครึ่งลำเรือ เรือผีหลอกเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้จับปลาได้อย่างชาญฉลาด
ที่มา มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน