นกกระจาบทอง

ประเภท : นกที่พบในพื้นที่เกษตรกรรม

วงศ์นก : นกกระจาบ (Ploceidae)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ploceus hypoxanthus

ชื่อสามัญ :

ลักษณะทั่วไป

นกขนาดเล็กประมาณ 15 เซ็นติเมตร   ตัวผู้นอกฤดูผสมพันธ์และตัวเมีย  ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลและมีลายทางสีเนื้อ  คิ้ว ตะโพกและลำตัวด้านล่างสีเนื้อ คอสีขาว ขาสีน้ำตาลอ่อน  หางสั้น  ปากหนาแบบกรวยสีชมพูน้ำตาล ลักษณะคล้ายนกกระจาบธรรมดาแต่นกกระจาบทองมีปากหนาและอวบสั้นกว่า และแก้มสีคล้ำกว่า ตัวผู้ในฤดูผสมพันธ์  จะเปลี่ยนสีขนสวยงามมากขึ้น ลำตัวด้านล่าง หัว ตะโพกสีเหลืองสดใส แถบหน้าและลำคอสีดำ  ปากสีดำ ลำตัวด้านบนสีดำแกมสีน้ำตาลและมีลายทางเป็นสีเหลือง

พฤติกรรมและถิ่นอยู่อาศัย

ในพื้นที่บางเสาธง สามารถพบเห็นนกชนิดนี้ได้บ่อยโดยพบได้ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งนา พงหญ้าชายน้ำ ต้นโสนริมคลอง  ต้นธูปฤาษี ต้นกกในบ่อเลี้ยงปลา โดยพบนกอยู่กันเป็นฝูงเล็ก ๆ  หากินเมล็ดพืช เมล็ดข้าว  ตัวแมลง ตัวหนอน  ในฤดูผสมพันธ์ จะพบเห็นนกตัวผู้ที่มีสีเหลืองสดใสเกาะอยู่ตามยอดหญ้า ต้นโสน กิ่งไม้ที่มีสีเขียว ภาพนกสีเหลืองสดใสจะตัดกับสีเขียวของใบไม้ กิ่งไม้ในธรรมชาติ  ช่วยทำให้นกมีความโดดเด่นสวยงามสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนและสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มีโอกาสพบเห็น

อาหาร

เมล็ดข้าว เมล็ดพืช ตัวหนอน แมลง

การผสมพันธุ์

พบทำรังรูปทรงกลมโดยใช้ใบหญ้าฉีกเป็นเส้นยาว ๆ หรือใช้หญ้าเส้นเล็ก ๆ นำมาสานกัน  มีทางเข้าออกออกยู่ด้านข้าง  ทำรังแขวนอยู่อยู่ในระดับต่ำตามกอต้นกก ต้นธูปฤาษี ต้นโสน ต้นมะกอกน้ำ   กอหญ้า  แม่นกจะออกไข่สีขาวแกมสีเทา ในบางครั้งไข่อาจมีลายสีเข้ม ไข่มีจำนวน 2-4 ฟอง โดยแม่นกจะทำหน้าที่ฟักไข่และเลี้ยงดูลูกนกวัยอ่อนเพียงลำพังตัวเดียว ซึ่งจะเลี้ยงดูลูกอ่อนจนลูกนกสามารถเจริญเติบโตแข็งแรงจนสามารถบินออกจากรังได้ด้วยตนเอง และในฤดูผสมพันธ์เดียวกันนั้น นกตัวผู้จะไปผสมพันธุ์กับนกตัวเมียตัวใหม่ได้อีกหลายครั้ง

สถานภาพ จัดเป็นนกประจำถิ่นและสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ในพื้นที่อำเภอบางเสาธง พบเห็นนกชนิดนี้ได้ตลอดปี โดยพบนกชนิดนี้หากินปะปนกับนกชนิดอื่น ๆ ตามต้นโสนริมคลอง กอต้นธูปฤาษี กอต้นกกในบ่อเลี้ยงปลาซึ่งไม่มีมนุษย์ไปรบกวน