หมอทำพิธีขันหมาก

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : ปราชญ์ชาวบ้าน

ประเสริญ แสงหิรัญ ไวยาวัจกรวัดหัวคู้และเจ้าพิธีขันหมากงานมงคลสมรส พิธีแห่ขันหมากเริ่มต้นจากขั้นตอนพิธีสงฆ์ โดยการนิมนต์พระภิกษุ 9 รูป มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับคู่บ่าวสาว ทำน้ำมนต์ไว้พรมให้แก่ผู้มาร่วมงาน จากนั้นให้คู่บ่าวสาวทำบุญตักบาตรถวายพระ แล้วจึงเริ่มพิธีขันหมาก ในช่วงเวลา 8.39 น. หรือ 8.49 น. จนถึงเวลา 9.00 น. ในขบวนขันหมากจะมีต้นกล้วย 1 คู่ ต้นอ้อย 5 ลำมัดรวมกัน 1 คู่ เหล้าขาว 2 ขวด ผ้าขาว 3 เมตร 1 ผืน เพื่อมาปูรองเครื่องสังเวย พิธีขันหมากนั้นประกอบด้วย ขันเงิน ขันทอง พานแหวน ปัจจุบันต้องมีพุ่มขันหมาก และขันเตียบ 2 คู่ 4 ขัน ในขันเตียบคู่แรกจะใส่หมาก 9 ลูก พลู 9 เลียง จัดเรียงรายพองาม คู่ที่สองจะมีห่อหมก 9 ห่อ ขนมจีน 9 จับ และขนมต้มลูกใหญ่ จากนั้นจะมีหมูนอนตองและไก่ต้มสุก 3 คู่ 6 ขัน จากนั้นจัดกล้วยน้ำว้า 9 หวี ใส่ถาด ถ้าใหญ่มากก็จัดเป็นเครื่อง 5 แบ่งเป็น 2 กับ 3  มะพร้าวอ่อนก็เช่นเดียวกัน แล้วก็มีขนมมงคล 5 อย่าง ได้แก่ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เม็ดขนุน และทองเอก จากนั้นก็จะมีขนมเปี๊ยะ ขนมจันอับ ขนมโดยมากจะจัดเป็น 9 คู่

           พิธีแห่ขันหมากจะจัดเป็นขบวนโดยมีฆ้องนำ ตามด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย เหล้า เตียบ ซึ่งต้องเป็นผู้หญิงที่ผ่านน้ำพระพุทธมนต์ถือมา ตามด้วยขันเงิน ขันทอง กล้วยน้ำว้า หมูนอนตอง ไก่ต้มสุก มะพร้าวอ่อน ขนมมงคล ผ้าไหว้บิดามารดา อนึ่งสำหรับสินสอดนั้น มีประเพณีว่าต้องใส่ไว้ให้เกินกว่าที่ตกลงไว้ เมื่อเถ้าแก่ตรวจตราสิ่งของนับดู ก็จะถือว่าเงินงอก นับเป็นเคล็ดที่ถือกันมา ชายหญิงนั้นอยู่ร่วมกันแล้วทรัพย์สินก็มีแต่จะเพิ่มพูนยิ่งขึ้น  เมื่อถึงบ้านเจ้าสาวจะมีการกั้นประตูเงินประตูทอง และมีการเชิญขันหมากใช้สำรับคาวหวานเชิญ เนื่องจากเดินทางมาไกล จะมีธรรมเนียมในการกราบขอพรของคู่บ่าวสาว จะให้ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวที่มาในขบวนขันหมากจะเข้ามาให้คู่บ่าวสาวกราบขอพรทั้งหมดทุกคน