สมุดไทยเรื่องพระมาลัย (คัมภีร์ใบลาน) วัดบัวโรย

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : วรรณกรรมพื้นบ้าน

      สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยสังเขป

          กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งนามว่าพระมาลัย อาศัยอยู่ในลังกาทวีปที่หมู่บ้านโรหนคาม พระมาลัยองค์นี้เป็นผู้ ยึดมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และได้ตั้งปรารถนาที่จะโปรดเหล่าสรรพสัตว์ ให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง 

         ครั้งหนึ่งพระมาลัยได้เดินทางไปยังยมโลกเพื่อโปรดเหล่าสัตว์นรก ครั้นท่านลงไปถึงไฟนรกอันร้อนแรงก็ได้ดับลงชั่วขณะหนึ่ง เหล่าสัตว์นรกทั้งหลายต่างพากันเข้ามานมัสการและสนทนากับพระมาลัย เหล่าสัตว์นรกได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงได้ฝากความทุกข์ยากที่ได้รับในนรกภูมินี้ให้พระมาลัยนำไปบอกกับบรรดาญาติๆ ของตนให้ช่วยอุทิศส่วนกุศลมาให้แก่ตนบ้าง พระมาลัยรับว่าจะนำความไปบอกให้เหล่าบรรดาญาติมิตร ของสัตว์นรกทั้งหลายให้ทราบ ครั้นพระมาลัยนำความมาบอกแก่เหล่าบรรดาญาติๆ ของสัตว์นรกทั้งหลาย บรรดาญาติๆ เหล่านั้นต่างก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ทำให้เหล่าสัตว์นรกได้รับผลบุญ และด้วยอำนาจแห่งบุญกุศลที่เหล่า สัตว์นรกได้รับ จึงทำให้ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์

         ต่อมาพระมาลัยได้เดินทางไปยังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้พบกับเหล่าสัตว์นรกที่ท่านเคยลงไปโปรดโลกบังเกิดเป็นเทวดาเสวยทิพยสมบัติมีแต่ความสุขความสบาย พระมาลัยจึงได้นำความไปบอกให้ญาติพี่น้องของเทวดาเหล่านั้นทราบ เมื่อบรรดาญาติพี่น้องเหล่านั้นทราบว่าบุคคลที่ตนรัก มีความสุขสบายก็ให้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นยิ่งนัก ทุกคนต่างพากันทำบุญอุทิศส่วนกุศลกันมิได้ขาด

         ในกาลต่อมามีชายเข็ญใจคนหนึ่งได้นำดอกบัว 8 ดอกมาถวายแด่พระมาลัย ในขณะที่ท่านกำลังออกบิณฑบาตอยู่ในหมู่บ้าน พระมาลัยรับดอกบัว 8 ดอกไว้ แล้วให้พรแก่ขายเข็ญใจคนนั้น พระมาลัยพิจารณาว่าบัว 8 ดอกนี้ไปบูชายังที่แห่งใดดีระหว่างสถานที่ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา หรือสถานที่ปรินิพพานดี  ในที่สุดก็ตกลงใจว่าจะนำดอกบัว 8 ดอกนี้ ไปนมัสการพระธาตุจุฬามณีเจดีย์อันประดิษฐานอยู่ ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์

         เมื่อพระมาลัยมาถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์แล้วก็กระทำทักษิณาวัตรปฏิบัติบูชาพระบรมสารีริกธาตุ จากนั้นความงามของพระธาตุองค์นี้ ไม่นานต่อมาพระอินทร์ และเหล่าเทพบริวารได้มานมัสการพระธาตุจุฬามณีเจดีย์ เมื่อนมัสการพระธาตุแล้วพระอินทร์ก็มานั่งยังที่อันสมควร ส่วนเหล่าเทวดานางฟ้าเมื่อนมัสการพระธาตุเจดีย์แล้วก็เข้ามานมัสการพระมาลัย พระอินทร์ได้สอบถามความเป็นมาของพระมาลัยๆ จึงแจ้งประวัติของท่านให้พระอินทร์ทราบ และได้กล่าวแสดงวัตถุประสงค์ที่ท่านมายังสถานที่แห่งนี้แล้วพระมาลัยจึงได้สอบถามเรื่องการสร้างพระธาตุเจดีย์ พระอินทร์ตอบว่าตนเป็นผู้สร้างขึ้นเพื่อให้บรรดาทวยเทพและเหล่านางฟ้าได้กราบไหว้บูชา

         พระมาลัยมีความสงสัยว่าเหตุใดเหล่าเทวดานางฟ้าจึงต้องทำบุญกันอีกทั้งๆ ที่เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ในโลกมนุษย์นั้นก็ได้สั่งสมบุญมามากแล้ว พระอินทร์จึงอธิบายให้ทราบว่าเหตุที่เหล่าเทวดานางฟ้ายังต้องทำบุญกุศลนั้น เพราะว่าต้องการได้ภพภูมิที่สูงยิ่งขึ้นไป ด้วยเหตุว่าเทวดานางฟ้าบางองค์ทำบุญมาน้อยเมื่ออยู่ในโลกมนุษย์  เมื่อมาอยู่บนสวรรค์ก็จะอยู่ได้ไม่นานจึงต้องหมั่นสร้างบุญกุศลให้มากเอาไว้ จากนั้นพระมาลัยได้ถามพระอินทร์ว่าพระศรีอริยเมตไตรยจะเสด็จมานมัสการพระธาตุเจดีย์นี้เมื่อใด พระอินทร์จึงกล่าวให้ ทราบว่าพระศรีอริยเมตไตรยจะเสด็จมานมัสการพระธาตุเจดีย์แห่งนี้ในวันขึ้น ๘ ค่ำ และวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันนี้เป็นวันขึ้น ๘ ค่ำพอดีที่พระศรีอริยเมตไตรยจะเสด็จมานมัสการพระธาตุเจดีย์ พระมาลัยจึงได้รอเฝ้าพระศรีอริยเมตไตรย โดยในระหว่างรอก็ได้สนทนากับพระอินทร์ในเรื่องต่างๆ ระหว่างนั้นพระมาลัยได้สังเกตเห็นว่ามีเทวดาองค์นั้นองค์นี้เสด็จมาพร้อมกับเหล่าบริวาร เข้ามานมัสการพระบรมธาตุมากมาย พระมาลัยได้ถามพระอินทร์ว่าเทวดาองค์นั้นองค์นี้ใช่พระศรี   อริยเมตไตรยหรือไม่

         เมื่อทราบว่าไม่ใช่พระศรีอริยเมตไตรย พระมาลัยจึงได้ถามพระอินทร์ว่าเทวดาเหล่านั้นชาติก่อนเขาทำบุญด้วยสิ่งใดจึงได้มาเสวยสุขอย่างนี้ พระอินทร์จึงเล่าให้พระมาลัยฟังถึงประวัติความเป็นมาของเทวดาองค์ต่างๆ

         ในขณะที่พระมาลัยถามถึงประวัติความเป็นมาของเทวดาองค์ต่างๆ อยู่นั้นพระศรีอริยเมตไตรยพร้อมด้วยบริวารแสนโกฏิ ก็ได้มานมัสการพระบรมธาตุเจดีย์จุฬามณี ในขบวนของพระศรีอริยเมตไตรยนั้น ประดับไปด้วยเครื่องสูงและดอกไม้ธูปเทียนแห่ห้อมมา เมื่อทราบว่าเป็นพระศรีอริยเมตไตรย พระมาลัยจึงถามพระอินทร์ว่าเทวดาชุดขาวที่นำขบวน เทวดาชุดเหลืองที่อยู่ทางเบื้องขวา เทวดาชุดแดงทางเบื้องซ้ายและเทวดาชุดเขียวนั้นทำบุญด้วยสิ่งอันใด พระอินทร์จึงตอบว่าเทวดาเหล่านั้นทำบุญด้วยดอกไม้ขาว ดอกไม้เหลือง ดอกไม้แดง และดอกไม้เขียวตามลำดับ พระมาลัยถามถึงการบำเพ็ญบารมีของพระศรีอริยเมตไตรย พระอินทร์อธิบายว่ามีมากจนยากที่จะสาธยายได้หมด

         เมื่อพระศรีอริยเมตไตรยนมัสการพระธาตุเรียบร้อยแล้ว จึงได้มาสนทนากับพระมาลัย พระศรีอริยเมตไตรยถามถึงความเป็นอยู่ของมนุษย์ พระมาลัยกล่าวบอกไปว่ามนุษย์มีอยู่ด้วยกันหลายเผ่าพันธุ์ รวยบ้าง จนบ้างทุกข์บ้าง สุขบ้าง ดีบ้าง ร้ายบ้าง อายุยืนบ้าง อายุสั้นบ้าง เป็นต้น จากนั้นพระศรีอริยเมตไตรยถามเรื่องการทำบุญของมนุษย์ พระมาลัยเล่าว่ามนุษย์ในชมพูทวีปนั้นทำบุญน้อย ทำบาปมาก บางคนถือศีล บางคนทำทานด้วยการสร้างโบสถ์ วิหาร วัด และพระพุทธรูป

         นอกจากนี้พระศรีอริยเมตไตรยยังถามถึงเรื่องการอธิษฐานหลังการทำบุญพระมาลัยจึงกล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต่างมีความปรารถนาที่จะมาเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยๆ จึงฝากพระมาลัยให้มาบอกแก่ชาวชมพูทวีปว่าหากปรารถนาจะมาเกิดในศาสนาของพระองค์ก็ให้ฟังเทศน์มหาชาติทั้ง 13 กัณฑ์ให้จบภายในวันเดียว  แล้วยังกล่าวต่อไปอีกว่าถ้ามนุษย์ยังคงทำบาปกันอยู่ก็จะเกิดไม่ทันศาสนาของพระองค์

         ท้ายที่สุดแห่งการสนทนาพระศรีอริยเมตไตรยได้กล่าวถึงความสุข ความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ในเมืองมนุษย์ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณธัญญาหารเป็นต้นว่า  ข้าวสาลีตกลงพื้นดินเพียงเมล็ดเดียวก็สามารถแตกรวงออกไปได้อีกหลายพันกอและข้าว สาลีกอหนึ่งๆ นั้นมีจำนวนรวงข้าวได้หนึ่งพันรวง บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายต่างอยู่กันอย่างสงบไม่มีการเบียดเบียนเอาเปรียบกัน ผู้คนมีความสามัคคีกัน สามีภรรยาไม่มีทางนอกใจกันเลย 

         ประวัติความเป็นมา

         วรรณกรรมเรื่องนี้เค้าเดิมเป็นภาษาบาลีชื่อ มาเลยฺยสูตร เข้าใจว่าพระภิกษุชาวลังกาเป็นผู้แต่ง ต่อมาภิกษุชาวเมืองเชียงใหม่ชื่อ พุทธวิลาส นำมาแต่งขยายความให้พิสดารขึ้นแล้วเรียกชื่อใหม่ว่า ฎีกามาลัย

         แต่เดิมประเพณีสวดคัมภีร์ “มาลัยสูตร” กันในงานพิธีมงคลบ่าวสาว ขณะที่เจ้าบ่าวไปนอนเฝ้าหอ ฝ่ายเจ้าสาวจะหาชายที่เป็นบัณฑิตฝ่ายละ 2 คน มาสวดคัมภีร์ “มาลัยสูตร” เป็นทำนอง  โอดครวญอ่อนหวานเพื่อเป็นการสั่งสอนเจ้าบ่าว ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์บริสุทธิ์ ประเพณีตามที่กล่าวมานี้ถ้าจะมีมาแต่เดิมก็คงจะเลือนๆ กันไปแล้ว เพราะการสวดพระมาลัย  ในบัดนี้ใช้สวดแต่ในพิธีศพ แต่กระนั้นทุกวันนี้การสวดมาลัยหน้าศพก็มักจะมีอยู่ตามหัวเมือง ส่วนในกรุงเทพฯ โดยปกติก็มีการสวดแต่ทำนองอภิธรรมสังคหะนานๆ จึงจะพบว่ามีการสวดพระมาลัยสักครั้งหนึ่ง

         เรื่องพระมาลัยนี้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกนึกคิดของคนไทยในเรื่องบาป บุญ นรก  สวรรค์ เช่นเดียวกับไตรภูมิพระร่วง ในตอนต้นเรื่องพระมาลัยได้เสด็จไปโปรดสัตว์ในนรก  พวกเปรตในนรกได้ขอให้พระมาลัยบอกญาติพี่น้องของตนให้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้  การทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้คนตายเข้าใจว่าน่าจะได้เค้ามูลมาจากวรรณกรรม  เรื่องนี้

         วรรณกรรมเรื่องพระมาลัย นอกจากจะให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินและสะท้อนภาพสังคมแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านการสั่งสอนหรือขัดเกลาทางสังคม เพราะเนื้อหาได้แทรกแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการปฏิบัติตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุข ซึ่งผู้ฟังจะได้ซึมซับแนวความคิดที่ดีๆ ไปด้วย

         สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความเชื่อถือในพุทธศาสนา ซึ่งโดยทั่วไปความเชื่อดังกล่าวจะปรากฏอยู่ในวรรณกรรม โดยเฉพาะความเชื่อเรื่องบุญบาป ซึ่งถือเป็นเครื่องควบคุมและขัดเกลาความประพฤติของ คนในสังคมประการหนึ่งที่ส่งผลให้สังคมมีความสงบสุข เพราะเมื่อทุกคนมีความเชื่อในเรื่องบุญบาปแล้วก็มุ่งที่จะทำความดีเพื่อหวังผลดีตอบแทน และงดเว้นจากการทำบาปที่ทำให้ต้องไปชดใช้กรรมในนรก