การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่

ประเภทวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ : ความรู้แนวปฏิบัติธรรมชาติและจักรวาล

 นางมณี  สุขสง่า  อยู่บ้านเลขที่ 26 หมู่ที่ 5 ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ ประกอบอาชีพเลี้ยงปลา ได้ทำการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ และมะม่วงอื่นๆไว้บนคันบ่อปลา  เพื่อเป็นการเสริมรายได้ให้มากยิ่งขึ้นจากการเลี้ยงปลา นางมณีสุขสง่า มีความชำนาญในภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ เนื่องจากผลผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้ของนางมณี  สุขสง่า มีคุณภาพดีเยี่ยม ผลใหญ่ สมบูรณ์ ผิวเนียนเกลี้ยง รสชาติหวานหอม มีประสบการณ์ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้มา 50 ปีเศษ ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีความชำนาญด้านการปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดในตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ และเป็นบุคคลที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของโรงเรียนวัดจรเข้ใหญ่ หลักในการปลูกและดูแลมะม่วง

          1. ต้องเอาใจใส่ สังเกต หมั่นดูแล ทุกๆ ขั้นตอนของการเจริญเติบโต

          2. บำรุง ตกแต่ง ก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยการใช้ปุ๋ยคอกและฮอร์โมนช่วยเสริมต้นในขณะที่ต้นออกช่อ ติดผล ผลเริ่มเจริญเติบโต และผลที่ใกล้การเก็บเกี่ยว

          3. เก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างระมัดระวัง เพื่อที่จะได้มะม่วงที่มีคุณภาพดี หมั่นตรวจสอบและระมัดระวังการบ่มสุก  การขนย้ายมะม่วงไปจำหน่ายเพราะเป็นมะม่วงที่มีผิวบาง ช้ำง่าย

          4. ต้องมีเวลาดูแล ต้นมะม่วงอย่างสม่ำเสมอ ระวัง ป้องกัน และกำจัดศัตรูของพืชผล ตลอดจนวัชพืชไม่ให้รกและแย่งอาหารต้นมะม่วงได้

          คุณวิชิต รักษาธรรม ทำเกษตรในพื้นที่ 34 ไร่ พื้นที่ส่วนหนึ่งใช้สำหรับเลี้ยงปลา โดยจับปลาจำหน่ายปีละครั้ง พื้นที่ที่เหลือปลูกมะม่วงจำนวน 1,250 ต้น โดยประมาณ สายพันธุ์มะม่วงที่ปลูก คือ น้ำดอกไม้ และเขียวเสวย ระยะปลูก 5 คูณ 5 เมตร สังเกตว่า ขนาดของทรงพุ่มไม่ใหญ่นัก ทั้งนี้ เพราะมีการตัดแต่งกิ่งอยู่เป็นประจำนั่นเอง เจ้าของอธิบายว่า ราวเดือนเมษายน หลังจากเก็บผลผลิตหมดแล้ว ตัดแต่งกิ่ง ส่วนจะตัดมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของทรงพุ่มตัดตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ แต่บางต้นต้องตัดโกร๋นไม่เหลือใบ กรณีของการตัดหมดทั้งต้นต้องคอยสร้างใบให้มีความพร้อมเสียก่อน จึงจะราดสาร 

             การดูแลรักษามะม่วงนั้นเจ้าของเน้นปุ๋ยชีวภาพฉีดพ่นทางใบให้สูตร ที่ใช้อยู่เป็นประจำเจ้าของหมักเอง ประกอบด้วยกากน้ำตาล สับปะรด หอยเชอรี่ มะม่วงสุก นำสิ่งเหล่านี้มาหมัก เมื่อได้ที่นำน้ำหมักผสมน้ำฉีดพ่นให้ 2-3 ครั้ง เมื่อต้นสมบูรณ์ เดือนพฤษภาคมราดสารให้กับมะม่วงเขียวเสวย เดือนกรกฎาคมราดสารให้กับมะม่วงน้ำดอกไม้ สารที่ราดให้เรียกอย่างเป็นทางการ คือสารยับยั้งการเจริญเติบโต มีจำหน่ายตามร้านเคมีเกษตรทั่วไป เขามีบอกอัตราการใช้อย่างชัดเจน อย่างทรงพุ่ม 5 เมตร ใช้เท่านั้นเท่านี้ เกษตรกรรายนี้บอกว่า สำหรับมะม่วงเขียวเสวย ออกดอกยาก ควรใช้มากกว่าอัตราที่แนะนำครึ่งหนึ่งหลังราดสารได้ 50 วัน ฉีดพ่นไทโอยูเรียและโพแทสเซียม เพื่อเรียกดอก  วิธีการดูแลรักษา เพื่อให้มะม่วงออกดอกไม่ยาก แต่ที่ยากกว่าคือ การทำให้ติดผล ขณะที่มีดอกแล้วฝนชุก การติดผลจะน้อย เพราะส่วนหนึ่งดอกจะเน่าเสีย คุณวิชิต ให้ข้อมูลว่าตนเองเริ่มเก็บมะม่วงขายได้เดือนพฤศจิกายน ไปหมดเอาราวเดือนมีนาคม ก่อนฤดูนิดหนึ่ง มะม่วงที่เกษตรกรรายนี้ปลูกได้ มีขนาด 2-4 ผล ต่อกิโลกรัม ผลผลิตที่ได้นั้นมะม่วงเขียวเสวยเก็บผลผลิตได้ 100 ผลต่อต้น ต่อปี ส่วนน้ำดอกไม้ เก็บได้ 120 ผลต่อต้นต่อปี