นกกางเขนบ้าน

ประเภท : นกที่พบในพื้นที่เกษตรกรรม

วงศ์นก : วงศ์นกจับแมลงและนกเขน (Muscicapinae)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :

ชื่อสามัญ :

ลักษณะทั่วไป

นกขนาดเล็ก ประมาณ 23 เซนติเมตร  ขาสีดำ  ปากสีดำเรียวแหลมตรง      ตัวผู้ หัว อก ลำตัวด้านบนสีดำเหลือบเป็นมันเล็กน้อย  ลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกมีแถบสีขาว หางสีดำ ขอบหางคู่นอกสีขาว ตัวเมียมีลักษณะคล้ายตัวผู้  หัว อกสีเทาเข้ม  ลำตัวด้านบนสีเทาเข้มไม่เหลือบเป็นมัน 

พฤติกรรมและถิ่นอยู่อาศัย

ในพื้นที่อำเภอบางเสาธงสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตลอดปี โดยนกกางเขนบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งนา บ่อเลี้ยงปลา สวนผลไม้ สวนป่าในวัด  สวนสาธารณะ บ้านเรือน อาคารสิ่งก่อสร้าง แหล่งชุมชน  นกชนิดนี้สามารถปรับตัวเข้ากับแหล่งชุมชุนได้ดี มีความคุ้นเคยกับมนุษย์จึงสามารถพบเห็นนกกางเขนกระโดดคุ้ยเขี่ยหาจับกินแมลง หนอน ตามพื้นดินหรือสนามหญ้าเป็นอาหาร พร้อมกับกระดกหางไปด้วยตลอดเวลา  ในช่วงเวลาเช้าเย็นนกฃนิดนี้ชอบเกาะอยู่ตามเสาไฟ  เสาทีวี หลังคาอาคารบ้านเรือน หลังคาอาคารสิ่งก่อสร้างในวัด ต้นไม้ในชุมชน พร้อมกับส่งเสียงร้องเพื่อประกาศอาณาเขตพื้นที่ โดยเสียงร้องจะเป็นเสียงแหลมสูง หวาน และสามารถส่งเสียงร้องเป็นท่วงทำนองได้หลายแบบ

อาหาร

แมลง ตัวหนอน

การผสมพันธุ์

ทำรังอยู่ตามโพรงต้นไม้  คอต้นมะพร้าว  หรือชายคาบ้านอาคารสิ่งก่อสร้าง   รูปร่างของรังปรับเปลี่ยนให้เข้ากับลักษณะพื้นที่ที่นกทำรังอยู่ โดยนกจะใช้ใบหญ้า ในไม้ ใบไผ่ ใบมะพร้าวหรือใบไม้ชนิดอื่น ๆ ที่หาได้ในพื้นที่มาวางซ้อนกับแบบง่าย ๆ  แม่นกออกไข้ได้คราวละ 3-4 ฟอง ไข่มีสีเขียวอมสีฟ้ามีลายจุดและลายขีดสีน้ำตาล   เมื่อแม่นกออกไข่แล้วทั้งพ่อนกและแม่นกจะช่วยกันฟักไข่และช่วยกันเลี้ยงดูลูกนกให้เจริญเติบโตแข็งแรง จนลูกนกสามารถบินออกจากรังได้ด้วยตนเอง 

สถานภาพ

จัดเป็นนกประจำถิ่นและสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย  ในพื้นที่อำเภอบางเสาธงสามารถพบเห็นนกชนิดนี้หากินอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม แหล่งชุมชนได้ตลอดปี