ที่ ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่ มีลำคลองสายหนึ่ง มีที่มาเกี่ยวโยงกับบุคคลสำคัญในท้องถิ่นที่อยากจะให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จัก ถือเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอำเภอบางเสาธง นั่นคือ “คลองตาหลวง” ค่ะปัจจุบันคลองตาหลวง มีขนาดกว้าง 12เมตร ยาว 1,050 เมตร อยู่ในพื้นที่หมู่ 5 ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่คลองตาหลวงเป็นคลองสายสั้น ๆ ในแผนที่แสดงคลองในเขตพื้นที่ ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่ ปี 2558 คลองอยู่ด้านเหนือของตำบล ลักษณะโค้งเป็นรูปเกือกม้า บริเวณที่ถูกคลองโอบล้อมจึงมีลักษณะเหมือนเกาะ ส่วนปากคลองทั้งสองด้านสบกับคลองจรเข้ใหญ่ ช่วงกลางคลองที่โค้งอ้อมนี้ มีคลองแยกเป็นแนวขวางเยื้องมาทางด้านตะวันออกแต่ปลายคลองตัน คลองนี้คือ “คลองตาหลวง”คลองตาหลวงในอดีต จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโสบอกว่า คลองนี้เป็นชวดเล็ก ๆ ที่ขุดขึ้นเพื่อชักน้ำจากคลองจรเข้ใหญ่ให้เข้ามาในที่นา รวมทั้งเป็นเส้นทางลำเลียงข้าวระหว่างบ้านกับที่นาของตน เจ้าของชวด คือ ขุนภักดีพลีบาล หรือ นายอ่อง มามาก ซึ่งมีที่นาอยู่บริเวณนี้ ชวดนี้ไม่สามารถทะลุออกไปที่ใดเพราะปลายชวดจะตันอยู่ตรงบ้านขุนภักดีพลีบาล (อ่อง มามาก) เจ้าของนา ภายหลังผู้เข้ามาอาศัยอยู่ในคลองนี้โดยมากเป็นเครือญาติกันกับเจ้าของชวดคุณอำนาจ หงษ์จร รองนายก อบต.ศรีษะจรเข้ใหญ่ กล่าวว่าแต่ก่อนคลองไม่กว้าง กระโดดข้ามได้ ชวดนี้เป็นคลองตัน มีตระกูลแก้วโบราณเป็นเจ้าของที่นาในบริเวณนี้หลายร้อยไร่ และเมื่อถึงหน้านาจะมาทำนาในพื้นที่นี้ เมื่อหมดหน้านาก็กลับไปที่ชุมชนบ้านใหญ่ แถววัดจรเข้ใหญ่ ประวัติขุนภักดีพลีบาล (อ่อง มามาก) ตามคำบอกเล่าของเครือญาติที่ยังอยู่ใน ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่หลายท่านให้ข้อมูลว่า ราวสมัยรัชกาลที่ 3 หรือ รัชกาลที่ 4 เจ้าของที่นาส่วนใหญ่ที่อยู่ในย่านนี้คือหัวหน้าแขวงชาวบ้านเรียกว่า นายแขวง (ไม่ทราบนามเดิม) ภรรยาชื่อ นางเหม สมัยนั้นเรียกว่าอำแดงเหมสมัยนั้นนายแขวงเป็นผู้นำท้องถิ่นมีหน้าที่รับนโยบายและเป็นหูเป็นตาให้รัฐ ในการตรวจตราดูแลความสงบเรียบร้อยในท้องที่ เมื่อมีคดี หรือความไม่สงบเกิดขึ้น นายแขวงก็จะทำหน้าที่สอบสวนและตัดสินคดีความต่าง ๆตลอดจนลงโทษและคุมขังผู้กระทำผิดด้วย เล่ากันว่าที่บริเวณใต้ถุนเรือนของนายแขวงมีอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ลงโทษและเป็นที่คุมขังนักโทษผู้กระทำผิดด้วยส่วนอำแดงเหม ภรรยานายแขวงเป็นสตรีที่มีบุคลิกต่างไปจากชาวบ้านทั่วไปในสมัยนั้น ไม่ว่าจะพูดจา ยืน นั่ง การแต่งกาย ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของท่านก็มีความพิถีพิถัน สวยงามนายแขวงและอำแดงเหม จึงเป็นทั้งเศรษฐีมีทรัพย์และเป็นผู้นำทางสังคมของท้องถิ่นนี้ นายแขวงและอำแดงเหม มีบุตรด้วยกัน 2 คน คนแรกเป็นหญิง ชื่อ”เปรม” (ต่อมาเป็นภรรยานายแก้ว เป็นต้นตระกูล”แก้วโบราณ”) คนที่สองเป็นชาย ชื่อ อ่อง (เป็นต้นตระกูลมามาก) นายอ่อง มามาก บุตรชายของท่าน ต่อมาได้รับเลือกให้เป็นกำนันคนแรกของ อ.บางพลี มีบรรดาศักดิ์เป็น ขุนภักดีพลีบาล ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อรัฐบาลปฏิรูประบบราชการให้มีการปกครองและการบริหารที่กระชับขึ้น โดยในแต่ละท้องที่จะมีผู้ใหญ่ กำนัน นายอำเภอ และคณะกรรมการอำเภอโดยเป็นกำนััน ผู้ใหญ่บ้านส่วนใหญ่คือผู้รู้ ผู้อาวุโส และผู้นำท้องถิ่นคุณตาจีรศักดิ์ แก้วโบราณ อดีตกำนัน ต.ศีรษะจรเข้ใหญ่ ซึ่งล่วงลับไปแล้วท่านเป็นเครือญาติ ชั้นหลานของขุนภักดีพลีบาล (อ่อง มามาก) เนื่องจากคุณย่าท่านชื่อ เปรม (มามาก) แก้วโบราณ เป็นพี่สาวของขุนภักดีพลีบาล (อ่อง มามาก)คุณตาจีรศักดิ์ แก้วโบราณ ท่านให้ข้อมูลเกี่ยวกับขุนภักดีพลีบาล ในขณะที่ท่านมีอายุ 94 ปี “คุณพ่อ(ทวด) ของคุณปู่ผม เป็นหัวหน้าแขวงแล้วต่อมาก็เป็นคุณปู่ ปู่อ่องน้องของย่าผม มาเป็นกำนัน ได้รับพระราชทานยศเป็นขุนภักดีพลีบาล เป็นกำนัน อ.บางพลี แล้วก็มาเป็นกำนันเดช ต่อจากกำนันเดช เป็น กำนันเนียน แก้วโบราณ แล้วก็มาผมรับช่วง” (จีรศักดิ์ แก้วโบราณ. 11 พ.ค. 2555 : สัมภาษณ์)อ.อารีย์ วิทยารมภ์ (ธิดาคุณตาจีรศักดิ์ แก้วโบราณ)ได้เล่าขยายเรื่องราวของต้นตระกูลแก้วโบราณ และเรื่องคลองตาหลวงว่า “คลองตาหลวง ไม่ใช่ชื่อคน ที่ชื่อหลวง เป็นคลองที่เจ้าขุนมูลนายมาอยู่ครั้งแรกเขาเรียกนายแขวง ไม่นิยมเรียกชื่อ เหตุผลที่ไม่เรียกชื่อเพราะเขายกย่อง เมียเขาเรียกว่า อำแดงเหม เป็นเศรษฐีคนไทย เป็นเจ้าขุนมูลนายนายแขวงก็จะบริหารจัดการในพื้นที่เองนายแขวงนี้อยู่สมัยรัชกาลที่ 3–4 ลูกของเขาคือ ขุนภักดีพลีบาล สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นกำนัน คือ ตระกูลมามาก เป็นพ่อตาปิ่น-ยายแก้ว ขุนภักดีพลีบาล เดิมชื่ออ่อง ในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มีนามสกุล ท่านตั้งเป็น “มามาก” นายอ่อง มามาก เป็นเจเ้าของที่ดินผืนเล็กผืนน้อยเต็มไปหมด ” (อารีย์ วิทยารมภ์.23 ต.ค.2559: สัมภาษณ์)ดังนั้นเมื่อท่านขุดชวดเข้าที่นา ชาวบ้านจึงเรียกชื่อชวดตาหลวง แทนการเรียกชื่อของท่าน ทั้งนี้เพื่อบ่งบอกว่า เจ้าของชวดนั้นเป็น คนของหลวง นั่นเองภายหลังมีการขุดขยายชวดตาหลวงเมื่อ ปี 2526 ให้เป็นคลองกว้าง ทำให้พื้นที่นาบางส่วนเป็นของรัฐ แต่ยังคงเรียกชื่อ “คลองตาหลวง” ดังเดิม=====เรื่อง : วุฒิพงษ์ ทองก้อนเนื้อหานี้มาจากงานวิจัยเรื่องการศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ