เล่าขานบ้านคลองวันนี้นำเกร็ดประวัติของคลองบางเซา-บ้านเกาะไก่ มาเล่าให้ฟังค่ะคลองบางเซา เป็นคลองสายหนึ่งในโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักชลประทานที่ 11 มีขนาดความยาวคลอง 9.2 กม. ขนาดท้องคลอง 4 เมตร และขนาดผิวน้ำกว้าง 20 เมตร คลองบางเซาบนในอดีต ตามคำบอกเล่าผู้อาวุโสที่อยู่ในท้องถิ่นหลายท่านเล่าว่าพื้นที่ส่วนใหญ่มีป่าอ้อหญ้าขึ้นรก มีสัตว์นานาชนิดอาศัยอยู่โดยเฉพาะลิงแนวคลองคดโค้งและเชื่อมออกไปคลองอื่น ๆ ได้หลายคลอง เช่นคลองชวดใหญ่ คลองกาหลง คลองพระองค์เจ้าไชยยานุชิต คลองบางเซาล่าง คือช่วงที่เชื่อมไปออกคลองสำโรง พื้นที่คลองด้านนี้มีชาวสำโรงและกรุงเทพฯ เข้าจับจองเป็นเจ้าของที่นาที่มาชื่อคลองบางเซา มาจากสภาพของคลองในอดีตที่รกร้างและเต็มไปด้วยป่าอ้อ ระยะแรกจึงมีผู้คนมาอยู่อาศัยน้อยมาก คือมีเพียง 3 ครอบครัวเท่านั้น คือ ครอบครัวนางผูก ครอบครัวนายผล และครอบครัวนายทองอยู่ เป็นญาติกันในตระกูลจันทร์ประทีปและจันทร์ทาวี แต่ก่อนคลองนี้จึงไม่ค่อยมีผู้คนสัญจรผ่านไปมา เว้นแต่เจ้าของนากับสามครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่นี้เท่านั้นอีกสาเหตุที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยน้อย เพราะไม่สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตดี ข้าวที่งอกงามนั้นกลายเป็น “ข้าวฟุ” ข้าวฟุ คือ ต้นข้าวที่เจริญเติบโต แต่ไม่ออกรวง เพราะหนอนกินข้างในจนเหลือแต่ใบ เป็นที่มาของคำว่า บางเซา ที่มาจาก ซบเซา เพราะคลองนี้ไม่คึกคัก ไม่ค่อยมีผู้คน เงียบเหงาซบเซาและได้เรียกหมู่บ้านที่อยู่ในคลองนี้ตามชื่อคลองด้วยคือชื่อ “หมู่บ้านคลองบางเซา” ภายหลังสมาชิกในตระกูลนี้ขยายครัวออกไป ภายหลังก็มีตระกูลอื่น ๆมาอยู่ในพื้นที่และบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้น ไม่ซบเซาเหมือนก่อนผู้อธิบายเรื่องนี้ได้ดี คือคนในตระกูลจันทร์ประทีป เช่น คุณยายพริ้ง พรบังเกิด อายุ 81 ปี ท่านได้เล่าว่าในสมัยที่บิดาเข้ามาอยู่ในคลองนี้เป็นรุ่นแรก ๆ ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวแรกที่เข้ามาอยู่ในคลองนี้ และเรียกชื่อ คลองบางเซามาตั้งแต่แรกแต่บางคนก็เรียก คลองดอน เดิมพื้นที่เป็นป่าหญ้า พ่อท่านเข้ามาบุกเบิกจับจองที่ได้ 116 ไร่ ตอนนั้นมีแต่ตระกูลจันทร์ประทีป กับจันทร์ทาวี ภายหลังที่เข้ามาคือนามสกุล เอี่ยมแหยม กับ ทับจันทร์ เมื่อก่อนพื้นที่นี้ทำนาไม่ค่อยได้ผลดีเพราะข้าวฟุ ภายหลังชาวบ้านจึงได้หันมาปลูกแตงโมเป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งในช่วงฤดูแล้ง (พระครูอนุกูล. 14 กันยายน 2559 : สัมภาษณ์) จนกระทั่งต่อมา ชาวบ้านได้ เพาะเลี้ยงไก่ พันธุ์เนื้อจำหน่ายเป็นอาชีพเสริมอีกทางหนึ่ง ซึ่งก็สร้างรายได้ดี ผู้ที่ริเริ่มเพาะเลี้ยงไก่เป็นคนแรกของหมู่บ้าน คือ นายผิว จันทร์ทาวี ที่ได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ไก่มาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นอาชีพหลักของหลายครอบครัวที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านนี้ ต่อมาคนทั่วไปเรียกชื่อหมู่บ้านนี้ว่า หมู่บ้านเกาะไก่คุณยายเจียร ศรีสมโภช อายุ 87 ปี คนในตระกูลจันทร์ทาวี กล่าวว่า น้องชายของท่าน ชื่อนายผิว จันทร์ทาวี เป็นผู้ที่ริเริ่มเลี้ยง เพาะไก่เป็นคนแรกของหมู่บ้านจนต่อมาแพร่หลายไปทั้งหมู่บ้าน คนทั่วไปจึงเรียกว่า “หมู่บ้านเกาะไก่” “คนริเริ่มให้เลี้ยงไก่ คือน้องชายยายชื่อ นายผิวจันทร์ทาวี ซื้อพันธุ์ไก่มาจากกรุงเทพฯ ซื้อลูกไก่เอามาเลี้ยง แล้วพอออกไข่เขาก็มาทำเอง ฟักเอง ไม่ต้องซื้อพันธุ์ ผสมพันธุ์เอง พี่น้องยายเลี้ยงไก่หมด เลยเรียกกัน “เกาะไก่” (เจียร ศรีสมโภช. 3 พ.ย. 2558 : สัมภาษณ์)ปัจจุบัน คลองนี้มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้นพื้นที่ส่วนใหญ่ก็ยังคงทำการเกษตรกรรมทำนาและเลี้ยงปลาในบ่อโดยเฉพาะคลองบางเซาบน ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่หลายส่วน ได้ปรับเปลี่ยนเป็นที่อยู่อาศัยรูปแบบหมู่บ้านจัดสรร ——-เรื่อง : วุฒิพงษ์ ทองก้อนภาพประกอบเป็นภาพคลองบางเซาที่ถ่ายไว้เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2559 เนื้อหานี้มาจากงานวิจัยเรื่องการศึกษาเชิงคติชนวิทยา : การตั้งชื่อคลองและชื่อบ้านใน อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ