สีฝัด

สีฝัดเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำนา ใช้ฝัดข้าวเปลือกเพื่อแยกเมล็ดข้าวที่ไม่มีเนื้อหรือขี้ลีบออกจากเมล็ดข้าวดี ทำจากไม้ โดยใช้เสาไม้สี่เหลี่ยมทำเป็นขา ๔ ขา สูงประมาณ ๑๕๐ เซนติเมตร มีโครงไม้และแผ่นไม้ประกอบกันคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ ๘๐ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑๘๐ เซนติเมตร ด้านหน้าบุด้วยสังกะสีโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ด้านล่างใช้สังกะสีบุบนแผ่นไม้วางเอียงลาด ด้านหลังสูง ด้านหน้าต่ำ

แผ่นสังกะสีจะเป็นรางให้เมล็ดข้าวเปลือกที่ดีมีน้ำหนักมากไหลลงมายังพื้น ส่วนประกอบสำคัญที่สุดของสีฝัดคือ เฟืองกงพัดที่อยู่ด้านข้างทำด้วยเหล็ก ตัวเฟืองคล้ายจานขนาดใหญ่ ด้านในมีเฟืองโดยรอบ ด้านนอกมีเหล็กติดกับเสา จุดศูนย์กลางมีเฟืองเล็ก ๆ หมุนรอบตัวเองตามรางเฟืองใหญ่ด้านใน แกนเฟืองจะยึดติดกับเสาทั้งสองด้าน หมุนรอบตัวเองได้สะดวก

ด้านบนของสีฝัดทำด้วยไม้ เป็นกระบะสี่เหลี่ยมก้นสอบ ด้านหลังทำเป็นช่องเล็ก ๆ สามารถปิดและเปิดได้ ขณะที่ฝัดข้าวจะต้องมีผู้เลื่อนแผ่นไม้ขึ้น เปิดช่องให้ข้าวเปลือกไหลลงไปยังตะแกรงในจำนวนพอเหมาะที่ลมจะพัดให้ขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการปลิวออกไปได้

ตะแกรงทำด้วยเหล็กเส้นขนาดประมาณเท่าปลายนิ้วก้อย ๔-๕ เส้น แต่ละเส้นห่างกันประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ตะแกรงช่วยให้เศษฟาง ใบหญ้าที่ปะปนอยู่กับเปลือกออกมากระทบกับตะแกรงแล้วถูกแรงลมพัดลอยออกไป ไม่ตกลงไปปนกับข้าวเปลือก

การฝัดข้าวจะต้องมีผู้หมุนสีฝัดคนหนึ่งและมีผู้ขนข้าวเปลือกมาเติมให้เต็มกระบะตลอดเวลา ด้านหลังของสีฝัดมีกล่องแบน ๆ มีรางทำด้วยแผ่นไม้ แขวนไว้กับขาสีฝัดเพื่อรับขี้ลีบและสิ่งที่ไม่ต้องการที่ไม่ปลิวออกไปตามแรงลม 

ต่อมามีผู้นำเครื่องยนต์มาหมุนใบพัดแทนแรงคน ทำให้ฝัดข้าวได้รวดเร็ว และเมื่อมีรถเกี่ยวข้าว ทำให้การเกี่ยวข้าว นวดข้าวและฝัดข้าวด้วยสีฝัดแบบพื้นบ้านสูญหายไป

ที่มา ฐานข้อมูลเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)