ระหัดวิดน้ำ
ระหัดเป็นเครื่องวิดน้ำ เป็นรางทำจากไม้ การใช้ระหัดในระยะแรกใช้แรงงานคนโดยใช้เท้าถีบหรือมือหมุน ต่อมาใช้เครื่องจักร ระหัดจะ “วิดน้ำ” จากที่หนึ่งให้ไหลไปอีกที่หนึ่งได้อย่างต่อเนื่อง
แนวคิดในการประดิษฐ์ระหัดน่าจะมาจาก “กังหันน้ำ” ที่อาจจะเกิดขึ้นก่อน ระหัด กังหันน้ำเป็นเครื่องวิดน้ำหรือเครื่องชักน้ำคล้ายกับระหัด ใช้ตักน้ำหรือชักน้ำที่อยู่ในที่ต่ำขึ้นมายังที่สูง โดยใช้กระแสน้ำหมุนวงล้อขนาดใหญ่ที่ทําด้วยไม้ มักจะตั้งไว้ริมตลิ่งที่มีน้ำไหล ให้ขนาดของวงล้อใหญ่สูงกว่าระดับตลิ่งเพื่อให้น้ำไหลลงไปตามรางรับน้ำ
ระหัดพื้นบ้าน เป็นระหัดขนาดเล็กที่เรียกว่า “ระหัดมือ”ทําด้วยไม้เป็นโครงสี่เหลี่ยมขนาด ประมาณ ๒๕ x ๓๕ เซนติเมตร ยาว ประมาณ ๓ เมตร หรือ ๖ ศอก ภายในโครงด้านล่างทําเป็นรางด้วยแผ่นไม้บาง ๆ หัวและท้ายมีกงระหัดทําด้วยไม้คล้ายดุมเกวียน มีกงไม้แบน ๆ ฝังอยู่ ๖ อัน มีลูกระหัด ทําด้วยแผ่นไม้ ขนาดประมาณ ๑๕ x ๒๐ เซนติเมตร สอดขวางอยู่กับแกนไม้ที่มีลักษณะเหมือนโซ่รถจักรยาน ซึ่งเกี่ยวกันเป็นช่วงๆ คล้องกงระหัดทั้งหัวและท้าย ส่วนหัวของระหัดจะมีแกนเหล็กที่โค้งงอกลับกันเหมือนบันไดรถจักรยาน ปลายเหล็กนี้อาจทําเป็นที่สําหรับใช้มือผลัก ให้แกนกงระหัดหมุนไปคล้ายการถีบจักรยาน เพื่อทําให้ลูกระหัดเคลื่อนที่ตามกันไปอย่างต่อเนื่อง ชักน้ำเข้ามาในรางแล้วไหลออกไปที่ด้านหัวระหัดตามต้องการ
เมื่อมีเครื่องยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทย จึงมีผู้นําเครื่องยนต์มาใช้ฉุดระหัด ทําให้ใช้ระหัดวิดน้ำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งประหยัดน้ำมันและใช้ได้ทน พื้นที่ทำนาบางเสาธง เกษตรกรนําเครื่องยนต์มาใช้ฉุดระหัดกันมาก ระหัดจึงเป็นเครื่องวิดน้ำที่ใช้แพร่หลายในกลุ่มชาวนาเพื่อวิดน้ำเข้านาหรือวิดน้ำออกจากนา เมื่อ ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ก่อนที่เครื่องสูบน้ำจะมาแทนที่
ที่มา : นิตยสารศิลปวัฒนธรรม